ใกล้ถึงเวลายื่นภาษีประจำปีอีกแล้ว การเตรียมตัวศึกษารายการลดหย่อนภาษี 2568 จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรรู้ล่วงหน้า เพื่อวางแผนการเงินและใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้คุ้มค่าที่สุด วันนี้เราจะมาแนะนำรายละเอียดมาตรการลดหย่อนภาษี 2568 ทั้งหมดที่เหล่ากู๊ดดี้ควรรู้ก่อนยื่นภาษีประจำปี
รู้ก่อน! ใครบ้างที่ต้องเสียภาษี
ผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 120,000 บาทต่อปีขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส หรือรายได้จากการประกอบธุรกิจส่วนตัว จะต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ตามประเภทของรายได้
รายการลดหย่อนภาษี สำหรับยื่นภาษี 2568
การใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2568 บุคคลธรรมดา อย่างถูกต้องและครบถ้วน จะช่วยให้เหล่ากู๊ดดี้ประหยัดภาษีได้มากขึ้น มาดูกันว่ามีรายการลดหย่อนภาษี บุคคลธรรมดาอะไรบ้างที่สามารถนำไปใช้ได้
1. ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว
ค่าลดหย่อนในส่วนนี้เป็นสิทธิพื้นฐานที่ผู้เสียภาษีทุกคนได้รับ โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว ลดหย่อนได้ 60,000 บาทต่อปี สำหรับผู้มีเงินได้ทุกคน
- ค่าลดหย่อนคู่สมรส ลดหย่อนได้ 60,000 บาท กรณีคู่สมรสไม่มีรายได้
- ค่าลดหย่อนบุตร ลดหย่อนได้คนละ 30,000-60,000 บาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ต้องเป็นบุตรตามกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม และบุตรมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุ 20 - 25 ปี แต่กำลังศึกษาอยู่
- กรณีที่บุตรอายุเกิน 25 ปี แต่มีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ สามารถลดหย่อนภาษีได้
- กรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
- กรณีมีเฉพาะบุตรตามกฎหมาย ลดหย่อนบุตรกี่คนก็ได้ตามจำนวนบุตรจริง
- กรณีมีเฉพาะบุตรบุญธรรม ลดหย่อนภาษีบุตรได้คนละ 30,000 บาท สูงสุด 3 คน
- กรณีมีทั้งบุตรตามกฎหมายและบุตรบุญธรรม ใช้สิทธิบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก่อน และถ้าบุตรบุญธรรมเป็นคนที่ 4 จะไม่สามารถใช้สิทธิได้ แต่ถ้าบุตรบุญธรรมอยู่ในคนที่ 1-3 สามารถใช้สิทธิบุตรบุญธรรมได้
- ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร ลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 60,000 บาท
- ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ละมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ทั้งพ่อแม่ของตนเองและพ่อแม่ของคู่สมรส
- ค่าเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
2. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน
นอกจากค่าลดหย่อนพื้นฐานแล้ว ยังมีค่าลดหย่อนจากการลงทุนและการทำประกันต่าง ๆ ที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งนับเป็นการวางแผนการเงินระยะยาวที่ได้ประโยชน์ทั้งการออมและการลดภาษี
- เงินประกันสังคม ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 9,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ที่มีความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
- ของตนเอง ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง รวมทุกกรมธรรม์แล้วไม่เกิน 100,000 บาท
- ของคู่สมรส (ไม่มีรายได้) ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง รวมทุกกรมธรรม์แล้วไม่เกิน 10,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพ
- ของตนเอง ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 25,000 บาท เมื่อรวมกับประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- ของพ่อแม่ (รายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี) ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท
- เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ
- เงินสะสมกองทุน RMF ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ
- เงินสะสมกองทุน SSF ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ
- เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) สำหรับผู้ที่ลงทุนในหุ้นหรือธุรกิจ Social Enterprise ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป สามารถนำเงินลงทุนไปเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
- กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท
- กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
3. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค
การบริจาคเงินเพื่อสาธารณประโยชน์นอกจากจะเป็นการทำบุญแล้ว ยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ตามนี้เลย
- บริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม และสถานพยาบาลของรัฐ ลดหย่อนได้ถึง 2 เท่าของจำนวนที่บริจาค แต่สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
- บริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิ
- บริจาคให้กับพรรคการเมือง ลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงสูงถึง 10,000 บาท
4. ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
ใครเป็นสายช้อป สายเที่ยว โอกาสทองมาถึงแล้ว เพราะรัฐบาลมีกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐให้เราได้เที่ยวและช้อปลดหย่อนภาษี แถมใครที่กำลังผ่อนบ้านอยู่ก็มีสิทธิลดหย่อนภาษีด้วยนะ เช็คข้อมูลด้างล่างได้เลย
- Easy e-Receipt ลดหย่อนได้ไม่เกิน 50,000 บาท ตามที่จ่ายจริง สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการที่มีใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567
- ค่าลดหย่อนเที่ยวเมืองรอง ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท ตามที่จ่ายจริง สำหรับจังหวัดรอง 55 จังหวัด ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 30 พฤศจิกายน 2567
- ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย เช่น บ้านเดี่ยว คอนโด ห้องชุด และอาคาร เป็นต้น สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
- ค่าสร้างบ้านใหม่ 2567-2568 ลดหย่อนได้ 10,000 บาท ต่อจำนวนค่าก่อสร้างที่จ่ายจริงทุกหนึ่งล้านบาท แต่รวมแล้วไม่เกิน 100,000 บาท โดยสัญญาจ้างเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567 – 31 ธันวาคม 2568
Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษี ซื้ออะไรได้บ้าง
Easy E-Receipt คือมาตรการลดหย่อนภาษี ที่ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถลดหย่อนค่าซื้อสินค้าและบริการที่เข้าเงื่อนไข สูงสุด 50,000 บาท ตามนี้เลย
สินค้าที่เข้าร่วม
แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
- สินค้าหรือบริการจากร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30,000 บาท ในส่วนของร้านค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ลดหย่อนได้เฉพาะสินค้าและบริการต่อไปนี้
- หนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
- หนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
- สินค้าหรือบริการที่ลดหย่อนไม่เกิน 20,000 บาท
- สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
- สินค้าหรือรับบริการจากวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร
- สินค้าหรือรับบริการจากวิสาหกิจเพื่อสังคมที่จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
ทั้งนี้เมื่อรวมมูลค่าซื้อสินค้าและบริการตามข้อ 1 และข้อ 2 ลดหย่อนรวมกันไม่เกิน 50,000 บาท
สินค้าที่ไม่เข้าร่วม
- ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
- ค่าซื้อยาสูบ
- ค่าซื้อน้ำมัน ค่าซื้อก๊าซ และค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และค่าซื้อเรือ
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
- ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาของมาตรการ
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
- ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และค่าที่พักโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย หรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม
ต้องซื้อสินค้าหรือบริการช่วงไหน ถึงลดหย่อนภาษีได้
- ลดหย่อนภาษีปี 2567 (ยื่นปี 2568) ซื้อสินค้าหรือบริการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 - 15 กุมภาพันธ์ 2567
- ลดหย่อนภาษีปี 2568 (ยื่นปี 2569) ซื้อสินค้าหรือบริการตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 - 28 กุมภาพันธ์ 2568
วิธีคำนวณภาษีและค่าลดหย่อนภาษี
เช็คลิสต์รายการลดหย่อนภาษีเสร็จแล้ว มาดูตัวอย่างการคำนวณภาษีแบบง่าย ๆ กัน
เหล่ากู๊ดดี้มีเงินเดือน 50,000 บาท มีค่าใช้จ่าย 100,000 บาท และมีสิทธิหักลดหย่อนอยู่ 2 อย่าง ได้แก่ สิทธิลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และสิทธิจากประกันชีวิต 50,000 บาท
ขั้นตอนที่ 1 คำนวณรายได้สุทธิ
รายได้สุทธิ = เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน
รายได้สุทธิ = (50,000 × 12) - 100,000 - 60,000 - 50,000 = 390,000 บาท
ขั้นตอนที่ 2 คำนวณภาษีที่ต้องจ่าย
อัตราภาษีของบุคคลธรรมดาจะคิดแบบขั้นบันได โดยมีรายละเอียดดังนี้
เงินได้สุทธิ (บาท) | อัตราภาษี (%) | ภาษีที่ต้องจ่ายในแต่ละขั้น (บาท) |
1 - 150,000 | ยกเว้น | ยกเว้น |
150,001 - 300,000 | 5% | 7,500 |
300,001 - 500,000 | 10% | 20,000 |
500,001 - 750,000 | 15% | 37,500 |
750,001 - 1,000,000 | 20% | 50,000 |
1,000,001 - 2,000,000 | 25% | 250,000 |
2,000,001 - 5,000,000 | 30% | 900,000 |
5,000,001 ขึ้นไป | 35% | - |
เมื่อคำนวณภาษีตามอัตราก้าวหน้าจะได้ดังนี้
ภาษีที่ต้องจ่าย = (เงินได้สุทธิ – เงินได้สุทธิสูงสุดในขั้นก่อนหน้า) x อัตราภาษี + ภาษีขั้นบันไดก่อนหน้าสูงสุด
ภาษีที่ต้องจ่าย = (390,000 - 300,000) x 10% + 7,500 = 16,500
รวมภาษีที่ต้องจ่ายทั้งสิ้น 2 ขั้น = 16,500 บาท
เอกสารสำหรับการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี
การยื่นลดหย่อนภาษี 2568 จำเป็นต้องมีเอกสารประกอบการพิจารณา ได้แก่
- หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
- เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี เช่น ใบเสร็จรับเงินในการซื้อกองทุน ใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันหลักฐานการบริจาค หนังสือรับรองดอกเบี้ยจากการกู้ยืมของทางธนาคาร หรือใบเสร็จรับเงินค่าเล่าเรียนบุตร เป็นต้น
สามารถยื่นภาษีได้ที่ไหน
เหล่ากู๊ดดี้สามารถยื่นภาษีได้ 2 แห่ง ได้แก่
ปกติการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะยื่นปีละ 1 ครั้ง ภายในวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม ของปีถัดไป เช่น รายได้เกิดขึ้นในปี 2567 (ปีภาษี 2567) ต้องยื่นภาษีภายในวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2568 ถ้ายื่นผ่านช่องทางออนไลน์จะสามารถยื่นได้จนถึงต้นเดือนเมษายนของทุกปี สำหรับการยื่นภาษีออนไลน์ 2567 สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 8 เมษายน 2568 ตลอด 24 ชั่วโมง
heygoody ช่วยเลือกประกันที่ใช่ เพื่อลดหย่อนภาษีได้สูงสุด
การวางแผนใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2568 อย่างรอบคอบจะช่วยให้เหล่ากู๊ดดี้ประหยัดภาษีได้อย่างคุ้มค่า ทั้งการลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว การลงทุน การบริจาค และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ จากภาครัฐ
สำหรับเหล่ากู๊ดดี้ที่กำลังมองหาทางเลือกในการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม heygoody มีประกันลดหย่อนภาษีที่สามารถนำไปลดหย่อนได้ ทั้งประกันบำนาญที่ช่วยวางแผนการเงินยามเกษียณ และประกันสะสมทรัพย์ที่ให้ทั้งความคุ้มครองและผลตอบแทน พร้อมสิทธิประโยชน์ทางภาษี ช่วยให้เหล่ากู๊ดดี้วางแผนทางการเงินได้อย่างมั่นใจ และมีเงินเหลือเก็บไปใช้ในสิ่งที่รักมากขึ้น
ที่มา : Krungsri Credit Card และ iTAX